เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในสวนเกษตรหลังบ้าน (Applied robotic technology to inhouse farm)
7 สิงหาคม 2020
การประยุกต์ใช้เครื่องขุดหลุมแบบบังคับวิทยุในสวนป่าเศรษฐกิจ (Application of a radio controlled digger in an economic forest plantation)
7 สิงหาคม 2020

การเปลี่ยนใบอ้อยเป็นพลังงานทางเลือกช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5

ใบอ้อยซึ่งเป็นเศษวัสดุจากการเก็บเกี่ยวอ้อยของอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยปกติเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจะเผาทิ้งเพื่อป้องกันปัญหาการเกิดไฟใหม่ไร่อ้อยที่ควบคุมไม่ได้ แต่ใบอ้อยนับเป็นวัตถุดิบชั้นดีของโรงไฟฟ้าชีวมวล (Biomass plant) เพราะให้ค่าความร้อนได้ประมาณ 3,800 cal./Kg.ที่ความชื้น 12-15% โดยในการผลิตไฟฟ้า 1 MW จะใช้ใบอ้อยราว 1.7-2.2 ตัน แล้วแต่ค่าความชื้นของใบ้อ้อยที่นำมาป้อนเตาเผา อุปสรรคที่สำคัญสำหรับการนำใบอ้อยมาป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวลคือ
1) ความฟ่าม (bulky) ทำให้ใบอ้อยกินเนื้อที่มากทั้งในการขนส่งและการเก็บรักษา
2) ซิลิก้า (Silica) ที่มีอยู่ในใบอ้อย ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนกระดาษทราย ทำให้เครื่องจักรที่ใช้ในการเก็บรวบรวมต้องทำงานหนักและถูกซิลิก้าในใบอ้อยกัดกร่อนอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถทำงานได้ในที่สุด

กาฬสินธุ์-เกษตรกรในพื้นที่กาฬสินธุ์และใกล้เคียงเร่งใช้เครื่องอัดใบอ้อยสด ขนใบอ้อยและฟางข้าวส่งขายอุทยานมิตรกาฬสินธุ์ เผย ลดเผาก่อนตัด แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีรายได้เพิ่มจากตัดต้นอ้อยอีกตันละ 1,000 บาท ที่อุทยานมิตรกาฬสินธุ์ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่ต่างๆนำใบอ้อยที่ตัดเอาลำต้นเสร็จแล้วเข้ามาขายให้กับทางโรงงานอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยวันละ 200-300 ตัน โดยทางโรงงานตั้งเป้าการรับซื้อใบอ้อยในปีนี้ไว้ที่ 2.8 หมื่นตัน และปัจจุบันมีเกษตรกรนำใบอ้อยมาขายให้กับโรงงานแล้ว 1.4 หมื่นตัน เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่เริ่มที่งดเผาอ้อย ตัดอ้อยสด และนำใบมาขายเพิ่มมากขึ้น

 

 

ที่สำคัญการตัดอ้อยสด ใบอ้อยยังสามารถสร้างมูลค่าให้กับเกษตรกร โดยเก็บใบมาขายให้กับโรงงาน ซึ่งราคารับซื้อหน้าโรงงานตันละ 1,000 บาท ทั้งนี้ การเก็บใบอ้อยมีต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 500 บาท ใน 1 ไร่เกษตรกรจะได้เงินเข้ากระเป๋าไร่ละประมาณ 500 บาท ที่เป็นรายได้เพิ่มจากการขายอ้อย โดยทางโรงงานเปิดรับซื้อ เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวล และเป็นการรณรงค์งดการเผาอ้อยและช่วยป้องกันร่วมแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อีกทั้งยังทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

เครื่องอัดก้อนเชื้อเพลิงชีวมวลแบบก้อนสี่เหลี่ยม (Square Balers) การทำงานของเครื่องอัดก้อนเชื้อเพลิงชีวมวลหรือใบอ้อย หลังจากเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยรถตัดแล้ว จะมีใบอ้อยและยอดอ้อยเหลืออยู่ในแปลง ให้ใช้เครื่องรวมกองเชื้อเพลิงชีวมวล หรือ Wheel Rake ติดตั้งกับรถแทรคเตอร์ ขนาด 125 แรงม้า กวาดรวมกองใบอ้อยกับยอดอ้อยไปตามแนวร่องอ้อยให้ได้ 1 แถว หลังจากนั้นนำเครื่องอัดก้อนเชื้อเพลิงชีวมวล หรือ Square Balers ติดตั้งกับรถแทรคเตอร์ ขนาด 155 แรงม้า วิ่งเก็บและอัดก้อนเชื้อเพลิงชีวมวลตามหลังรถแทรคเตอร์  ลักษณะก้อนเชื้อเพลิงชีวมวลหลังจากอัดก้อนจะมีรูปร่างเป็นก้อนสี่เหลี่ยม มีเชือกมัดก้อน จำนวน 6 เส้น ขนาด กว้าง 120 เซนติเมตร สูง 70 เซนติเมตร สามารถปรับความยาวได้ตั้งแต่ 50-300 เซนติเมตร น้ำหนัก 100 – 500 กิโลกรัม/ก้อน ทั้งนี้ความยาวก้อนเชื้อเพลิงชีวมวลที่อัดขึ้นอยู่กับประเภทของรถบรรทุกที่ใช้ขนส่ง  ฝ่ายเครื่องมือเกษตรของมิตรผล ได้นำเข้าเครื่องอัดก้อนเชื้อเพลิงชีวมวล หรือ Square Balers นี้จากประเทศเยอรมัน ยี่ห้อ CLAAS  รุ่น QUADRANT 4200 สนนราคาอยู่ที่ 5 ล้านบาท จุดประสงค์เพื่อบริการอัดก้อนใบอ้อยหรือเชื้อเพลิงชีวมวลให้พี่น้องมิตรชาวไร่ ได้ส่งขายให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลของมิตรผล ซึ่งจะทำให้พี่น้องมีรายได้อีกทางเพิ่มขึ้น

โรงงานน้ำตาลมิตรผลที่ตั้งอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เริ่มรับซื้อใบอ้อยมาได้ราว 5 ปีแล้ว เริ่มแรกรับซื้อหลักพันตัน เพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นตัน จนปัจจุบันตั้งเป้าการรับซื้อไว้ที่ 2 แสนตัน และล่าสุดได้รับซื้อใบอ้อยจากสมาชิกหรือชาวไร่อ้อยตั้งแต่เปิดหีบเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา และขณะนี้มียอดการรับแล้วประมาณ 1 แสนตัน แต่ในการเก็บจะไม่ให้เก็บทั้งหมด เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและทำให้ดินมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ทั้งนี้ให้เก็บเพียง 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใบอ้อยที่เหลือ 30 เปอร์เซ็นต์ ให้เหลือไว้คลุมดิน เพื่อรักษาความชื้น ป้องกันวัชพืช เกษตรกรให้การตอบรับดี เพราะช่วยเพิ่มรายได้จากการขยายใบอ้อย เป็นตัวชี้วัดว่าเกษตรกรมีการตัดอ้อยสดเพิ่มขึ้น เพราะการตัดอ้อยสดมีใบอ้อยให้อัดก้อนขาย เป็นการแก้ไขปัญหาและรณรงค์งดเผาอ้อยก่อนตัด ซึ่งเป็นแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ทั้งนี้ สำหรับใบอ้อยที่รับซื้อจากเกษตรกร จะนำไปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลในโรงงาน

ด้านนายชาติไทย เปรินทร์ อายุ 37 ปี บ้านเลขที่ 40 หมู่ 5 บ้านหนองบัวทอง ต.สมสะอาด อ.กุฉินารายณ์ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย บอกว่าตนปลูกอ้อยในที่ดินของตนเองและพื้นที่เช่าราว 200 ไร่ ที่ผ่านมาตัดอ้อยสดเป็นประจำทุกปี โดยใช้รถตัด เพื่อประหยัดแรงงานและรวดเร็ว ขนใบอ้อยขายส่งโรงงาน เป็นรายได้เสริมจากการขายอ้อยอีกทางหนึ่ง และผลดีจากการไม่เผาอ้อยก่อนตัด ยังได้ใบอ้อยที่เหลือจากการใช้รถตัดและอัดใบอ้อย รักษาสภาพความชุ่มชื้นให้แก่ดิน และช่วยให้ตออ้อยงอกดีอีกด้วย นอกจากตนจะร่วมโครงการกับบริษัทน้ำตาลมิตรผล โดยไม่เผาอ้อยก่อนตัดแล้ว ยังเชิญชวนเพื่อนเกษตรกรให้นำใบอ้อยมาขาย เพราะหากเผาก่อนตัด จะถูกหักตันละ 30 บาท ขายอ้อยตัดสดจึงได้ราคาสูง และมีรายได้เสริมโดยขายใบอ้อยอีกตันละ 1,000 บาทอีกด้วย

บทความโดย
ว่าที่ ร.ต. จุลพงศ์ พฤกษะศรี สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตรอุตสาหกรรม ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ข้อมูลอ้างอิง
1. https://mgronline.com/local/detail/9630000009629
2. http://bestbioenergy.blogspot.com/2015/08/blog-post.html
3. http://www.mitrpholmodernfarm.com

Comments are closed.