เทคโนโลยีภาพถ่ายเชิงพื้นที่จากโดรนกุญแจสำคัญสู่การเกษตรกรรมแบบแม่นยำ
2 กันยายน 2021
เทคโนโลยีเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์เมล่อนออสโมซิสกึ่งแห้ง
23 กันยายน 2021

เทคโนโลยีโดรนกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall Armyworm)

หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall armyworm : Spodoptera frugiperda JE Smith) เป็นศัตรูสำคัญของข้าวโพด นอกจากนี้ยังมีพืชอาหารมากกว่า 80 ชนิด เช่น ข้าว อ้อย ข้าวฟ่าง พืชตระกูลถั่ว มะเขือเทศ มันฝรั่ง ยาสูบ ฝ้าย ทานตะวัน กล้วย กระเทียม ขิง มันเทศ พริก พืชตระกูลกะหล่ำ พืชตระกูลแตง และพืชผัก

วงจรชีวิตของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ใช้เวลา 30-40 วัน เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ผีเสื้อเพศเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยวางไข่เป็นกลุ่ม ประมาณ 100-200 ฟอง มีขนปกคลุมไข่ ผีเสื้อเพศเมียหนึ่งตัววางไข่ได้ประมาณ 1,500-2,000 ฟอง ระยะไข่ 2-3 วัน หนอนมี 6 วัย ระยะหนอน 14-22 วัน หนอนที่โตเต็มที่มีขนาดลำตัวยาว 3.2-4.0 เซนติเมตร จะทิ้งตัวลงดินเพื่อเข้าดักแด้ ระยะดักแด้ 7-13 วัน จึงเป็นตัวเต็มวัย มีชีวิต 10-21 วัน สามารถบินเคลื่อนย้ายระหว่างแปลง และอพยพระยะไกลระหว่างประเทศ หรือภูมิภาคได้

ลักษณะการทำลายของผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เริ่มวางไข่บนต้นข้าวโพด ตั้งแต่ข้าวโพดงอก อายุ 3-4 วัน โดยพบกลุ่มไข่ทั้งด้านบนใบ ใต้ใบ และที่ลำต้น หลังจากฟักจากไข่ หนอนขนาดเล็กจะรวมกลุ่มกัดกินผิวใบ เห็นเป็นรอยทำลายสีขาวที่ผิวใบเมื่อข้าวโพดอายุ 6-7 วัน (10-11 วันหลังปลูก) ลักษณะเป็นจุดหรือเป็นแถบสีขาว หนอนตัวเล็กที่เพิ่งฟักสามารถกระจายไปยังต้นข้างเคียงโดยปลิวไปกับลม หนอนวัย 3-6 เป็นระยะที่ทำความเสียหายมาก กัดกินอยู่ในยอดข้าวโพด ทำให้ใบขาดเป็นรู เว้าแหว่ง ยอดกุด ระยะก่อนที่ดอกตัวผู้จะโผล่หนอนจะกัดกินเกสรตัวผู้ หลังจากใบยอดคลี่ทั้งหมด ดอกตัวผู้โผล่พ้นใบที่หุ้มอยู่ หนอนจะย้ายไปที่ฝัก กัดกินไหม และเจาะเปลือกหุ้มฝักเข้าไปกัดกินภายในฝัก

ปกติหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด จะทำลายใบ อยู่ในยอดข้าวโพด ในกรณีที่อากาศร้อนจัด ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน (เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน) อุณหภูมิ 36-41 องศา หรือ ในช่วงที่มีอากาศร้อน แห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง สภาพดังกล่าวนี้ หนอนที่มีอายุประมาณ 5 วัน มักจะหลบอาศัยใต้ผิวดิน กัดกินเนื้อเยื่อเจริญส่วนโคนต้น ทำให้เกิดอาการยอดเหี่ยว (dead heart) ต้นตาย ต้นข้าวโพดที่ยอดตายบางต้นมักจะมีการแตกหน่อข้าง ถ้าดินมีสภาพเปียก แฉะ หรือ ถ้าช่วงที่มีอากาศเย็นตอนที่ปลูกข้าวโพดฤดูแล้งหลังนา หนอนมักจะไม่ลงมาทำลายใต้ดินบริเวณโคนต้น มักไม่พบอาการยอดเหี่ยว หรือพบน้อย การคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงก่อนปลูก สามารถลดปัญหาการลงมาเจาะที่โคนต้นได้เมื่อเทียบกับการไม่คลุกเมล็ด

การปลูกข้าวโพดในฤดูฝน หากมีการกระจายของฝนดี ฝนตกต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ความรุนแรงในการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดจะลดลง ฝนที่ตกหนักจะชะกลุ่มไข่ หรือ หนอนขนาดเล็กที่เพิ่งฟัก หรือทำให้หนอนที่อยู่ในดินซึ่งกำลังจะเข้าดักแด้ รวมทั้งดักแด้ที่อยู่ในดินมีชีวิตรอดน้อยลง ทำให้สามารถเว้นระยะห่างในการพ่นสารและลดจำนวนครั้งในการพ่นสารลงได้ อย่างไรก็ตามควรมีการติดตามสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ

ในข้าวโพด พบว่าผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด มาวางไข่บนใบข้าวโพดอย่างต่อเนื่อง โดยจะวางไข่มากในช่วง ระยะ 3 สัปดาห์แรกหลังจากข้าวโพดงอก เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด จึงควรหมั่นสำรวจแปลงหลังจากข้าวโพดงอก สังเกตกลุ่มไข่ และรอยทำลายสีขาวที่ผิวใบ เมื่อพบต้นถูกทำลาย จนมีรอยกัดขาดเป็นรู ป้องกันกำจัดตามคำแนะนำของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เน้นพ่นสารลงในกรวยยอด

โดรน (Drone) เพื่อเกษตรอินทรีย์ ปัญหาสารเคมีตกค้างในผลผลิตการเกษตร และในสิ่งแวดล้อม นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่ปลอดภัยในการบริโภคแล้ว ยังรวมไปถึงความไม่ปลอดภัยในตัวเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีอีกด้วย โดยเฉพาะการผสมสารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง การพ่นสารเคมีโดยไม่ป้องกันความปลอดภัยในการพ่นสาร ทำให้เกษตรกรได้รับสารเข้าไปทั้งทางระบบหายใจและทางผิวหนัง เป็นเหตุให้สารซึมซับเข้าสู่กระแสเลือด เมื่อนานวันเข้าสารจะสะสมในร่างกายซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในการทำให้เกิดโรคร้าย เช่น มะเร็ง เป็นต้น

กระแสการใช้สารชีวภัณฑ์หรือสารอินทรีย์เพื่อการเกษตรกำลังตื่นตัว เนื่องจากเป็นความต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับรัฐบาลได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งตามภารกิจของกรมวิชาการเกษตรในด้านการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในด้านการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โดยมีสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมเป็นผู้รับผิดชอบในการประดิษฐ์คิดค้น และพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร เช่น เครื่องเกี่ยวนวดข้าว เครื่องหยอดปุ๋ย เครื่องดำนา เป็นต้น เครื่องจักรกลเกษตรที่สถาบันฯ วิจัยและพัฒนาขึ้นมา นอกจากราคาถูกแล้วยังช่วยประหยัดแรงงาน ทำงานได้รวดเร็ว และลดความเหนื่อยยากให้แก่เกษตรกรด้วย

กลุ่มเกษตรกร ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอลพบุรี จังหวัดลพบุรี มีความสนใจเทคโนโลยีโดรนสำหรับฉีดพ่นสารเคมีกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกับทีมที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ให้ ตัวแทนบริษัท พาวเวอร์ อโกรเทค (ประเทศไทย) จำกัด ได้แนะนำเทคโนโลยีโดรนสำหรับหว่านปุ๋ย และฉีดพ่นสารเคมีกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด รวมถึงการรดน้ำ การให้ฮอร์โมน และการถ่ายภาพวิเคราะห์และตรวจโรคพืช แก่กลุ่มเกษตรกร ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอลพบุรี จังหวัดลพบุรี

จากการสาธิตและชี้แจงข้อมูลรวมถึงประสิทธิภาพของการใช้เทคโนโลยีโดรนสำหรับหว่านปุ๋ย และฉีดพ่นสารเคมีกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด รวมถึงการรดน้ำ การให้ฮอร์โมน และการถ่ายภาพวิเคราะห์และตรวจโรคพืช แก่กลุ่มเกษตรกร ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอลพบุรี จังหวัดลพบุรี พบว่ามีเกษตรกรให้ความสนใจและได้มีการติดต่อกับตัวแทนบริษัท พาวเวอร์ อโกรเทค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งนำไปสู่การให้บริการ เพื่อแก้ไขปัญหาในด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างยังยืนต่อไป

บทความโดย

ว่าที่ ร.ต. จุลพงศ์ พฤกษะศรี

ข้อมูลอ้างอิง

1) https://www.opsmoac.go.th/uthaithani-dwl-files-411491791831
2) http://www.mahasarakham.doae.go.th/wp-content/uploads/2020/02

Comments are closed.