การประยุกต์ใช้เรือเก็บขยะในคลองชลประทานแบบบังคับวิทยุ
23 กันยายน 2021
การประยุกต์ใช้ระบบตรวจสอบโรคกล้วยไม้แบบควบคุมระยะไกลร่วมกับเทคนิคการประมวลผลภาพถ่าย
27 กันยายน 2021

การประยุกต์ใช้เฮลิคอปเตอร์บังคับวิทยุสำรวจแปลงมันสำปะหลังที่เกิดโรค
(Application of Unmanned Radio-controlled helicopters surveying
in diseased cassava fields)

มันสำปะหลังนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย โดยในปัจจุบันนั้นประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิต และส่งออกมันสำปะหลังเป็นอันดับ 1 ของโลก มีปริมาณผลผลิตแปรรูปรวม 7.27 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,153 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่ความต้องการผลผลิตมันสำปะหลังทั้งภายในประเทศ และตลาดโลก ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังของไทยในปี พ.ศ. 2550-2554 เพิ่มขึ้นถึง 18.8 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในการศึกษาปริมาณการส่งออกผลผลิตมันสำปะหลังในรายไตรมาสกลับพบว่ามีความผันผวนสูง อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคพืช ผลกระทบเนื่องจากความผันแปรของสภาวะอากาศโลก และฤดูกาลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาดังกล่าวพบว่า ผลผลิตหัวมันสำปะหลังสดจากปริมาณการผลิต 27.76 ล้านตัน ในเนื้อที่เพาะปลูก 7.78 ล้านไร่ มีการลดลงคิดเป็นเปอร์เซนต์ถึง 9.93% เพื่อตอบสนองต่อความต้องการผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีการนำเทคโนโลยี และเทคนิคสมัยใหม่ เข้ามาช่วยในการเพิ่มผลผลิตหัวมันสำปะหลังสดต่อไร่ (ที่มา: รายงานสถานการณ์การผลิตและการค้ามันสำปะหลัง สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย) ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานได้ส่งเสริมให้เกษตรประยุกต์ใช้เทคนิคในการช่วยเพิ่มผลผลิตหัวมันสดต่อไร่ หลายวิธีการด้วยกัน อาทิเช่น เทคนิคในการเลือกใช้มันสำปะหลังพันธุ์ดีที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูก เทคนิคในการเลือกใช้ต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์ เทคนิคในการปรับปรุงโครงสร้าง และบำรุงดินในพื้นที่ปลูก เทคนิคการให้น้ำ และเทคนิคที่สำคัญในการเพิ่มผลผลิตประการหนึ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิต ก็คือการใช้ปุ๋ยเคมี โดยการใช้อย่างถูกต้อง และในปริมาณที่เหมาะสมเพียงพอต่อความต้องการใช้จริงของต้นมันสำปะหลังในแต่ละจุดของพื้นที่ ร่วมกับการเฝ้าระวังการระบาดของโรคพืชนั้น สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้โดยตรง ถึงแม้นว่าราคาหัวมันสดในตลาดอาจมีความผันผวนตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้นก็ตาม หากแต่เกษตรกรสามารถควบคุม และลดต้นทุนการผลิตลงได้แล้วละก็ ย่อมจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเพิ่มกำไรต่อเกษตรผู้เพาะปลูกได้โดยตรง จากประเด็นการลดต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มกำไรแก่เกษตรกรผู้ผลิตดังกล่าว

งานวิจัยนี้จึงมุ่งที่จะเสนอวิธีการประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีความแม่นยำทางด้านการเกษตร เพื่อเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการจัดการ และการบำรุงรักษา โดยมุ่งเป้าหมายไปยังการบริหารจัดการการให้ปุ๋ย และการตรวจวัดเฝ้าระวังการระบาดของโรคพืชในพื้นที่ปลูก ซึ่งจะเกี่ยวข้องโดยตรงในด้านของการลดต้นทุนการผลิต การป้องกันความเสียหายแบบทันท่วงที และสุดท้ายเป็นการเพิ่มผลผลิตของหัวมันสำปะหลังสดต่อไร่ ให้มีปริมาณสูงขึ้น รายละเอียดของระบบถ่ายภาพทางอากาศมุมสูง แบบติดตั้งบนเฮลิคอปเตอร์บังคับวิทยุ ที่จะทำการออกแบบและสร้างแสดงรายละเอียดดังในรูปด้านล่างนี้

ภาพที่ 1: ขั้นตอนโดยรวมในการบริหารจัดการปุ๋ย และโรคพืช ในแปลงปลูกมันสำปะหลัง

เมื่อได้ข้อมูลของภาพถ่ายทางอากาศมุมสูงที่ระยะความสูงที่เรากำหนดไว้ ในการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาพถ่ายนี้ จะทำให้เราทราบว่าภาพโดยรวมของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังนั้น ตรงบริเวณไหนบ้างที่มีความอุดมสมบูรณ์ และตรงบริเวณไหนบ้างที่มีการระบาดของโรคพืช ซึ่งจะช่วยทำให้เกษตรกรนั้น สามารถที่จะบริหารจัดการการวางแผนการผลิต การดูแลรักษา และการควบคุมค่าใช้จ่ายในการลงทุน โดยสามารถสรุปต้นทุนการปลูกมันสำปะหลังไร่ละ 30 ตัน ดังนี้

1. ค่าเตรียมดิน (ไถดะ 300 บ.,ไถแปร 200 บ.,ยกร่อง 150 บ.) 650 บาท
2. ค่าจ้างปลูก 600 บาท
3. ค่าจ้างใส่ปุ๋ย 300 บาท
4. ค่าจ้างขุด,ถอน 2,000 บาท
5. ค่าปุ๋ยอินทรีย์ 2,800 บาท
6. ค่าท่อนพันธุ์ (ต้นละ 1 บ.ตัดได้ 2 ท่อนใช้ 1,600 ท่อน) 800 บาท

รวมค่าใช้จ่าย 7,150 บาท/ไร่ โดยแปลงนี้ได้ผลผลิต 26,000 กิโลกรัมๆ ละ 2 บาท คิดเป็นเงิน 52,000 บาท/ไร่ ได้กำไร 44,850 บาท/ไร่ การปลูกมันสำปะหลังด้วยวิธีนี้ไม่สามารถทำได้จำนวนมาก เพราะต้องดูแลค่อนข้างดี แต่ถ้าเพิ่มการบริหารจัดการแบบทันท่วงทีตามเทคโนโลยีนี้ก็คาดการณ์ได้ว่าสามารถทำได้ รายละเอียดดังแสดงในรูปด้านล่างนี้

ภาพที่ 2: การใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศ ในแปลงปลูกมันสำปะหลัง

ในส่วนของการจัดทำออกมาเป็นแผนที่ประยุกต์ทางการเกษตรนั้น จะต้องทำการแบ่งพื้นที่ออกเป็นจุด โดยมีระยะห่างแต่ละจุดนั้น เท่ากัน ต่อจากนั้นทำการเก็บตัวอย่างดินในแต่ละจุดไปเข้าห้องปฏิบัติการเพื่อทำการวิเคราะห์หาค่าของแร่ธาตุอาหารในดิน พร้อมกับทำการจดบันทึกค่าพิกัดตำแหน่งของแต่ละจุดด้วย ต่อจากนั้นนำข้อมูลเหล่านี้เข้าสู่โปรแกรมจัดทำออกมาเป็นแผนที่ประยุกต์ทางการเกษตรต่อไป และในส่วนของการวิเคราะห์หาค่าของดัชนีพืชพรรณนั้น เราจะนำภาพถ่ายทางอากาศมุมสูงมาทำการประมวลผลภาพถ่าย โดยอาศัยอัลกอริธึมของระบบซอฟท์แวร์ที่ได้ทำการออกแบบไว้ รายละเอียดดังแสดงในรูปด้านล่างนี้

ภาพที่ 3:การนำข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศ ในแปลงปลูกมันสำปะหลัง มาทำเป็นแผนที่ประยุกต์ทางการเกษตร

บทความโดย

– เกรียงไกร แซมสีม่วง. รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตรอุตสาหกรรม (Industry Agricultural Engineering) ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

เอกสารอ้างอิง

– Grianggai Samseemoung, H.P.W. Jayasuriya and Peeyush Soni. 2011. Oil palm pest infestation monitoring and evaluation by helicopter-mounted, low altitude remote sensing platform, Journal of Applied Remote Sensing, Society of Photo-Optical Instrumentation Engineers (SPIE), DOI: 10.1117/1.3609843, Vol. 5, pp. 1-16, June 21, 2011.
– Swain, K. C., Jayasuriya, H. P. W. and V. M. Salokhe (2007b). Low altitude remote sensing (LARS): A potential substitution to satellite based remotes sensing for precision agriculture adoption in fragmented and diversified farming conditions, Agricultural Engineering International: the CIGR Ejournal, Invited Overview No. 12, Volume IX. September, 2007.
-Lambert, D. and J. Lowenberg-DeBoer (2000). Precision agriculture profitability review, Site-specific Management Center, School of Agriculture, Purdue University.
– รายงานสถานการณ์การผลิตและการค้ามันสำปะหลัง สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย
– รายงานเศรษฐกิจและการเงิน เดือนมกราคม 2554 ธนาคารแห่งประเทศไทย http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/Thai/report/Pages/econreport_monthly.aspx

Comments are closed.