การตรวจสอบดินจะทำให้เกษตรกรทราบว่าคุณสมบัติบางประการของดินที่เกี่ยวข้องกับความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืช และทราบถึงระดับธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดิน ทำให้เกษตรกรสามารถจัดการดินได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากดินเพื่อการปลูกพืชได้อย่างถาวร เมื่อมีการปลูกพืชลงบนดิน ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณของธาตุอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ในดิน เนื่องจากในขณะที่พืชมีการเจริญเติบโต พืชจะดูดดึงธาตุอาหารในดินไปใช้และเก็บสะสมไว้ในส่วนต่างๆ ได้แก่ ใบ ลำต้น ดอก ผล จนถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตและนำออกไปจากพื้นที่ ธาตุอาหารที่สะสมอยู่เหล่านั้นย่อมถูกนำออกไปจากพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ธาตุอาหารบางส่วนยังเกิดการสูญหายไปในรูปก๊าซ ถูกดินหรือสารประกอบในดินจับยึดไว้ บางส่วนถูกชะล้างออกไปจากบริเวณรากพืช หรือสูญเสียไปกับการชะล้างพังทลายของดิน ดังนั้นการเพาะปลูกพืชติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน โดยไม่มีการเติมธาตุอาหารลงไปในดิน ย่อมทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง และในที่สุดดินจะกลายเป็นดินไม่ดี ปลูกพืชไม่เจริญเติบโตอีกต่อไป ในการปลูกพืชจึงต้องมีการใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงดิน ช่วยเพิ่มธาตุอาหารพืชและคงระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้อยู่เสมอ ซึ่งปัจจุบันก่อนปลูกพื้นของเกษตรนั้นไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อการปรับหรือเพิ่มแร่ธาตุอาหารก่อนการเพาะปลูกจึงทำให้ผลผลิตนั้นได้น้อยกว่าความเป็นจริง หรือถ้าทำการปรับเกษตรส่วนใหญ่มักจะหว่านหรือพ่นสารอาหารโดยไม่มีการศึกษาข้อมูลว่าจำเป็นต้องพ่นหรือหว่านสารอาหารมากน้อยเพียงใดถึงจะเพียงพอกับพื้นที่นั้นๆ นอกเหนือจากนี้ การเก็บตัวอย่างดินมาตรวจสอบนั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน และต้องใช้คนจำนวนมากในการเก็บตัวอย่างในพื้นที่กว้างๆ ซึ่งนั้นจะทำให้เพิ่มต้นทุนการผลิตได้
การออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ต้นแบบอัจฉริยะสำหรับตรวจวัดและปรับสภาพดินอัตโนมัติ เพื่อความแม่นยำในการปรับสภาพสารอาหารในดินก่อนทำการเพาะปลูกซึ่งหุ่นยนต์ หรือ โรบอต (robot) คือเครื่องจักรกลชนิดหนึ่ง มีลักษณะ โครงสร้างและรูปร่างแตกต่างกัน หุ่นยนต์ในแต่ละประเภทจะมีหน้าที่การทำงานในด้านต่าง ๆ ตามการควบคุมโดยตรงของมนุษย์ การควบคุมระบบต่างๆ ในการสั่งงานระหว่างหุ่นยนต์และมนุษย์ สามารถทำได้โดยทางอ้อมและอัตโนมัติ โดยทั่วไปหุ่นยนต์ถูกสร้างขึ้นเพื่อสำหรับงานที่มีความยากลำบาก ปัจจุบันเทคโนโลยีของหุ่นยนต์เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ และมีการนำหุ่นยนต์มาใช้งานมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น ด้านอุตสาหกรรมการผลิต หุ่นยนต์ที่ใช้ในทางการแพทย์ หุ่นยนต์สำหรับงานสำรวจ หุ่นยนต์ที่ใช้งานในอวกาศ ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนที่หุ่นยนต์มักถูกนำไปใช้ ในงานอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาให้หุ่นยนต์นั้นมีลักษณะที่คล้ายมนุษย์ เพื่อให้อาศัยอยู่ร่วมกันกับมนุษย์ ให้ได้ในชีวิตประจำวัน ฉะนั้นการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการปรับสภาพดินจะทำให้เกษตรกรประหยัดแรงงาน ต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี
การออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ต้นแบบอัจฉริยะสำหรับตรวจวัดและปรับสภาพดินอัตโนมัติ โดยหุ่นยนต์อัจฉริยะสำหรับตรวจวัดและปรับสภาพดินอัตโนมัติต้นแบบ มีเปอร์เซ็นต์อัตราการลื่นไถลของหุ่นยนต์ พื้นคอนกรีต 4.1% แปลงทดสอบ 6.25% แปลงมันยกร่อง 13% และความสามารถของหัวเจาะที่ความลึก 10 เซนติเมตร ดินทราย 92% แปลงทดสอบ 100% ดินร่วน 96%
จากการทดลองพบว่า หุ่นยนต์สามารถทำงานได้ดีโดยมีประสิทธิภาพ สามารถขับเคลื่อนในแปลงยกร่อง ที่มีขนาดความกว้าง 70 เซนติเมตร และสามารถเจาะเพื่อตรวจวัดสารอาหารในดินที่ความลึก 10 เซนติเมตร โดยสภาพของพื้นที่ที่ทำการทดสอบ มีผลตรงต่ออัตราการลื่นไถลของหุ่นยนต์ หากพื้นที่มีความขรุขระมาก หุ่นยนต์ก็จะมีอัตราการลื่นไถลของหุ่นยนต์มาก และเมื่อทำการเจาะ ค่าความแข็งของดินมีผลต่อเวลาที่ใช้ในการเจาะ เพราะเหตุผลนี้จึงสามารถสรุปได้ว่า สภาพพื้นที่ของแปลงยกร่อง และค่าความแข็งของดินในแปลงทดสอบ มีผลโดยตรงต่อเวลาที่ใช้ในการทำงาน
ข้อมูลอ้างอิง
บทความโดย
1) ผศ.ดร. เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์
2) ว่าที่ ร.ต. จุลพงศ์ พฤกษะศรี