แพลตฟอร์มออนไลน์กลไกการลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร
2 กันยายน 2020
เครื่องฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ (Boom Sprayer)
2 กันยายน 2020

คลัสเตอร์เครื่องมือในการพัฒนาเกษตรกรรมไทย

 

ศาสตราจารย์ Michael E.Porter แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ให้ความหมาย “คลัสเตอร์” ว่าการที่กลุ่มของธุรกิจและสถาบันที่เกี่ยวข้อง มารวมตัวกันดำเนินกิจกรรมอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน มีความร่วมมือเกื้อหนุน เชื่อมโยงและเสริมกิจการซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน เป็นความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสนับสนุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) โดยรวม โดยหัวใจสำคัญของคลัสเตอร์ คือ ความร่วมมือ ตรงไหนที่ร่วมมือกันได้เพื่อไปแข่งขันกับผู้อื่นก็ร่วมกัน ตรงไหนที่ยังต้องแข่งขันกัน ก็ให้แข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ เช่น แข่งขันกันพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แข่งขันกันปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน ไม่แข่งขันกันโดยการตัดราคาคู่แข่ง
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก ที่มีบทบาทในการปฏิบัติและขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างและพัฒนาคลัสเตอร์ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2547 ภายใต้กรอบของคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (NCC : National Committee on Competitive Advantage) เริ่มดำเนินการส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 จนถึงปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายหรือสิ่งที่ได้รับจากการรวมกลุ่ม Cluster ดังนี้

1. เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิต และการบริหารจัดการ

2. เกิดการพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรม

3. เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ของสมาชิก

4. เกิดการขยายตลาดสู่ระดับประเทศและต่างประเทศ

5. เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพของบุคลากรร่วมกัน

6. เกิดความสามารถในการจัดซื้อ จัดหาวัตถุดิบได้ในราคาถูกลง

7. เกิดการขยายตัวด้านการค้า การลงทุนของสมาชิก

8. เพิ่มขีดความสามารถ และศักยภาพในการแข่งขันโดยรวม

ภาคเกษตรอุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ มีประชากรอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก มีพื้นที่สำหรับการเกษตรประมาณ 43% ของประเทศคิดเป็นพื้นที่ประมาณ140 ล้านไร่ และรายได้ของภาคเกษตรคิดเป็น 10% ของ GDP การพัฒนาภาคการเษตรให้เติบโตจึงเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ผู้ประกอบการรวมถึงการพัฒนาประเทศควบคู่กันไป การส่งเสริมคลัสเตอร์ในภาคการเกษตรสามารถดำเนินการได้ในสองแนวทางคือ

1. ภาคผู้ประกอบการทั้งในรูปแบบของผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร ผู้ให้บริการ รูปแบบการสร้างคลัสเตอร์จะทำให้เกิดความร่วมมือในด้านการพัฒนา ในส่วนที่ต้องแข่งให้เป็นไปอย่างเป็นธรรมและสร้างสรรค์ คำนึงถึงความสำเร็จของทุกภาคส่วน โดยรัฐเป็นสื่อกลางในการส่งเสริมและพัฒนา

2. ภาคเกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกร ต้องได้รับการส่งเสริมการรวมตัวกันสร้างผลิตผลเกษตรในรูปแบบของคลัสเตอร์ ส่งเสริมให้เกิดพัฒนาขีดความสามารถหรือมีความชำนาณเฉพาะด้านนำไปสู่การให้บริการในกลุ่มหรือต่างกลุ่ม ที่จะส่งผลต่อการลดต้นทุนการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเครื่องมือเครื่องจักรบนพื้นฐานของความมั่นคงและยั่งยืน ภาครัฐสามารถพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีผ่านกลุ่มคลัสเตอร์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

บทความโดย

อ.ธีระพงษ์ ควรคำนวน ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

 

ข้อมูลอ้างอิง

1. บทความออนไลน์ เข้าถึงจาก https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635778

2. บทความออนไลน์ เข้าถึงจาก http://info.dip.go.th/โครงการ/โครงการหลกกสอ/Cluster/tabid/137/Default.aspx

คลัสเตอร์เครื่องมือในการพัฒนาเกษตรกรรมไทย (140.2 KiB, 81 downloads)

Comments are closed.