การประยุกต์ใช้รถฉีดพ่นยากำจัดแมลงบนยอดมะพร้าว
13 สิงหาคม 2020
วิศวกรรมกับการป้องกันและแก้ปัญหาดินดาน
1 กันยายน 2020

ปรับพื้นที่นาจุดเริ่มต้นเกษตรแม่นยำ

Land leveling หมายถึง การปรับระดับดินหรือปรับพื้นที่ที่มีลักษณะ สูงๆ ต่ำๆ ให้ราบเรียบสม่ำเสมอ ตามระดับหรือความลาดเทที่ต้องการ เพื่อให้สามารถทำการให้น้ำชลประทานทางผิวดิน หรือการทำงานของเครื่องมือเครื่องจักรทางการเกษตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมมีวิวัฒนาการมาโดยตลอดตั้งแต่การปรับผิวดินให้ราบเรียบหรือ land smoothing ซึ่งเป็นการปรับพื้นที่อย่างง่ายเพื่อให้สะดวกต่อการทำงาน จนถึงการปรับระดับพื้นที่ที่มีความละเอียดถูกต้องสูงรองรับการเกษตรแบบแม่นยำในปัจจุบัน

สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าวในประเทศไทยนิยมเตรียมแปลงเพาะปลูกและให้น้ำแบบท่วมเป็นอ่าง(Basin)  โดยจะมีการใช้น้ำจำนวนมากไม่น้อยกว่า 250 มิลลลิเมตรสำหรับการเตรียมแปลง อีกทั้งตลอดฤดูปลูกเกษตรกรมีความคุ้นเคยกับการรักษาระดับน้ำในแปลงไว้ที่ระดับความลึก 10-15 เซนติเมตร เพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าวและป้องกันการเจริญเติบโตของ วัชพืช โดยตลอดฤดูปลูกเกษตรกรอาจใช้น้ำสูงถึง 1,500-2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่หรือมากกว่าหากการจัดการน้ำไม่ดีพอ และมีการสูญเสียน้ำในส่วนที่ไม่เกิดประโยชน์เช่น การระเหยที่ผิวดินหรือผิวน้ำ การซึมลึก การไหลซืมด้านข้าง ซึ่งการสูญเสียเหล่านี้แสดงออกมาในรูปของประสิทธิภาพการชลประทาน เป็นต้น โดยในที่นี้จะกล่าวถึงการสูญเสียน้ำและปัญหาอื่นๆ ที่เกิดเนื่องจากระดับพื้นนาไม่ราบเรียบเท่านั้น

ปัญหาที่พบเนื่องจากแปลงนาไม่เรียบหรือไม่ได้ระดับ

1.ในการเตรียมแปลงซึ่งต้องมีการขังน้ำเพื่อให้ดินอิ่มตัวก่อนการเตรียมดิน ขั้นตอนนี้เป็นขึ้นตอนที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมากและโดยทั่วไปเกษตรกรจะให้น้ำเข้านาจากด้านใดด้านหนึ่งของแปลงที่สามารถรับน้ำได้และใช้เวลาให้น้ำเคลื่อนตัวไปจนสุดแปลงโดยหยุดการให้น้ำเมื่อดินบริเวณท้ายแปลงอิ่มตัวต้วยน้ำพร้อมสำหรับการเตรียมดิน ซึ่งจะพบว่าหากแปลงไม่ราบเรียบหรือให้น้ำสวนทิศทางความลาดเทจะใช้เวลาและปริมาณน้ำจำนวนมาก

2.พื้นที่แปลงที่ไม่สม่ำเสมอทำให้การควบคุมระดับน้ำในแปลงทำได้ไม่ดีส่งผลถึงการเจริญโตของข้าวไม่สม่ำเสมอ และไม่สามารถควบคุมการเติบโตของวัชพืชได้

ความสำคัญของการปรับพื้นที่ต่อการทำนาข้าว

การปรับพื้นที่ให้เรียบ หรือมีความลาดเทสม่ำเสมอต่อเนื่องกันทั้งแปลง มีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการให้น้ำซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลถึงผลผลิตทางการเกษตร ทั้งในพื้นที่ที่ได้รับน้ำจากระบบการชลประทาน และพื้นที่เกษตรกรรมน้ำฝน โดยประโยชน์ของการปรับพื้นที่ต่อการให้น้ำได้แก่

1.เกษตรกรสามารถควบคุม และลดเวลาการให้น้ำให้สั้นลงได้ เนื่องจากเคลื่อนตัวของน้ำสำหรับการให้น้ำทางผิวดินมีลักษณะพิเศษคือน้ำจะเคลื่อนตัวไปข้างและซึมลงดินไปพร้อมๆกัน ดังนั้นหากแปลงนามีการปรับระดับดีแล้ว เมื่อให้น้ำไหลเข้าแปลงในอัตราที่เหมาะสมน้ำจะไหลถึงท้ายแปลงในระยะเวลาที่สั้นลง ทำให้ระยะเวลาการขังของน้ำบนผิวดินซึ่งเป็นตัวบอกถึงปริมาณน้ำที่ซึมลงดินมีค่าใกล้เคียงกัน และถ้ามีการคำนวณที่ถูกต้องเกษตรกรจะประหยัดน้ำได้ในปริมาณมากเพราะจะใช้น้ำเฉพาะที่ที่เป็นประโยชน์หรือจำเป็นสำหรับการเตรียมแปลงเท่านั้น

2.พื้นนาที่ราบเรียบสม่ำเสมอ ช่วยให้การกระจายน้ำตลอดความความยาวแปลงมีความสม่ำเสมอ พอเพียงกับความต้องการ ไม่มีน้ำขัง ส่งผลให้การงอกและการเติบโตของพืชสม่ำเสมอเช่นกัน

3.การจัดการน้ำแปลงนาทำได้ง่าย และรวดเร็วรองรับการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การใช้เทคนิคการให้น้ำแบบเปียกสลับแห้ง การปลูกข้าวนาหยอดที่อาศัยระบบ GPS นำร่อง เป็นต้น

การปรับพื้นที่ที่เหมาะสมจะทำให้การซึมลงดินของน้ำสม่ำเสมอ[1]

การปรับพื้นที่ในแปลงนาทำได้ทั้งในแบบเปียกและแห้ง

ภาพมุมสูงของแปลงนาสาธิตที่มีการปรับพื้นที่และแปลงนาที่อยู่รอบข้าง ใน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี[2]

บทความโดย

ธีระพงษ์ ควรคำนวน, อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมชลประทานและการจัดการน้ำ ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ข้อมูลอ้างอิง

1.Brouwer, K. Prins, M. Kay, and M. Heibloem, Irrigation Water Management: Irrigation Methods, International Institute for Land Reclamation and Improvement, Wageningen, The Netherlands

2.พาไปชมทุ่งนาไฮเทคใช้ “เลเซอร์” ช่วยปรับระดับพื้นที่, MGR Online, https://mgronline.com/science/detail/9610000076782

ปรับพื้นที่นาจุดเริ่มต้นเกษตรแม่นยำ (180.7 KiB, 120 downloads)

Comments are closed.