การวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์วิศวกรรมในการใช้เครื่องจักรกลเกษตรเบื้องต้น
7 สิงหาคม 2020
การใช้เทคโนโลยีสเปกโทรปีตรวจปริมาณแป้งมันสำปะหลังโดยไม่ขุดทำลาย
13 สิงหาคม 2020

การปรับเทียบเครื่องพ่นยาแบบสะพายหลัง (Calibration of knapsack sprayer)

เครื่องพ่นสารเคมีแบบสะพายหลังเป็นเครื่องจักรกลเกษตรที่นิยมใช้กันแพร่หลายมาก เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้ปฏิบัติงานในพื้นที่เกษตรกรรมขนาดเล็ก เช่น ปลูกผัก สวนดอกไม้ และพืชไร่ เป็นต้น เนื่องจากสามารถทำงานได้เร็ว การทำงานของเครื่องพ่นสารเคมีชนิดนี้ ทำงานโดยพ่นละอองสารเคมีให้เป็นฝอยละเอียด โดยอาศัยพลังงาน จากแรงคนในการโยก ใช้กำลังจากเครื่องยนต์ หรือใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ฉะนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เกษตรกรผู้ใช้จะต้องมีความรู้ในเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับเครื่องพ่นสารเคมีชนิดนี้พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการปรับเทียบหรือตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องพ่นยาแบบสะพายหลัง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรได้รู้ถึงอัตราการฉีดพ่นของเครื่องพ่นยาก่อนนำไปใช้งานจริงในแปลง สามารถวางแผนการใช้งานเครื่องพ่นสารเคมีได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตามความต้องการของพืช สามารถลดอันตรายจากการสัมผัสสารเคมีขณะปฏิบัติงานได้ และประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องของแรงงานและค่าสารเคมีที่ใช้ เป็นผลทำให้เกษตรกรมีรายได้ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น

เครื่องพ่นยาสะพายหลังแบบใช้แรงงานคนในการโยก [1]

เครื่องพ่นยาสะพายหลังแบบใช้เครื่องยนต์ [2]

เครื่องพ่นยาสะพายหลังแบบใช้แบตเตอรี่ [3]

 

หัวฉีด

หัวฉีดเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของเครื่องพ่นละอองสารเคมี ทำให้สารเคมีที่ใช้กระจายตัวเป็นละอองอย่างสม่ำเสมอ และเป็นตัวกำหนดอัตราการไหลของสารเคมีให้มากหรือน้อย หัวฉีดที่ใช้กับเครื่องพ่นสารเคมี มีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน ได้แก่

หัวฉีดใช้แรงดันของเหลว หัวฉีดชนิดนี้นิยมใช้กันในเครื่องพ่นสารเคมีชนิดต่างๆ ทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ใช้ความดันทำให้ของเหลวไหลผ่านรูฉีดขนาดเล็ก ของเหลวที่ออกจากรูฉีดออกไป จะกระจายตัวเป็นละอองขนาดต่างๆ กัน มีทั้งละอองขนาดเล็ก และละอองขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่กับขนาดของแรงดัน และขนาดของรูหัวฉีด ถ้าความดันสูง ละอองสารเคมีจะละเอียด ถ้าความดันต่ำ ละอองสารเคมีจะหยาบ ขนาดของรูหัวฉีดก็เช่นกัน รูหัวฉีดขนาดเล็ก จะให้ละอองสารเคมีที่ละเอียด ในขณะที่รูหัวฉีดขนาดใหญ่ จะให้ละอองสารเคมีที่ใหญ่ขึ้น  แบ่งออกเป็นหลายประเภทดังนี้

1. หัวฉีดแบบรูปพัด

หัวฉีดแบบนี้ทำด้วยวัตถุชิ้นเดียว มีลักษณะกลม แบน ตรงกลางเจาะ เป็นรูปวงรี ให้ของเหลวไหลผ่าน ของเหลวที่ไหลผ่านรูฉีดด้วยความดันสูง จะแผ่เป็นรูปพัด มีความกว้างของมุมที่ของเหลวออกมา ระหว่าง 0 องศา ถึง 110 องศา อัตราการไหลของละอองสารเคมี ขึ้นอยู่กับขนาดของรูฉีด และความดัน หัวฉีดชนิดนี้ใช้ในงานป้องกันกำจัดวัชพืช ป้องกันแมลง และโรคพืช ความดันที่ใช้อยู่ระหว่าง 3 บาร์ถึง 4 บาร์

หัวฉีดแบบรูปพัด [4]

  1. หัวฉีดแบบรูปกรวยเป็นหัวฉีดที่ใช้กันมากในการกำจัดแมลงและโรคพืช ประกอบด้วยชิ้นส่วน สำคัญ 2 ชิ้นคือ รูฉีด ทำด้วยโลหะบางๆ มีรูขนาดเล็กตรงกลางและแผ่นทำให้เกิดกระแสวน ทำด้วยโลหะ หรือวัสดุแข็งเป็นแผ่นบางๆ หรือเป็นแท่งกลม มีรูหรือร่องเอียงให้ของเหลวผ่าน เพื่อให้เกิดการหมุนวนด้านหลังของรูฉีด และไหลผ่านออกไปเป็นรูปกรวยกลม (cone type) ลักษณะการกระจายตัวของละอองสารเคมีแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ กรวยกลวง (hollow cone) และกรวยเต็ม (solid cone) ความดันที่ใช้อยู่ระหว่าง 3 ถึง 4 บาร์

หัวฉีดแบบกรวยกลวง [5]

หัวฉีดแบบกรวยเต็ม [6]

อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการปรับเทียบ

  1. ตลับเมตรหรือเทปวัดระยะทาง
  2. บิ๊กเกอร์หรือกระบอกตวงสำหรับวัดปริมาตร
  3. น้ำสะอาด
  4. ตารางบันทึกผล
  5. นาฬิกาจับเวลา
  6. เครื่องพ่นยาสะพายหลัง 

วิธีการปรับเทียบ

  1. ฉีดพ่นหัวฉีดลงในภาชนะเป็นเวลา 1 นาที บันทึกปริมาตรน้ำในหน่วยมิลลิลิตร หรือซีซี ทำการทดสอบซ้ำจำนวน 5 ครั้ง หาค่าเฉลี่ยและบันทึกผลลงในตาราง (V)  ที่ระดับความสูงของหัวฉีด 10-30 เซนติเมตร

บันทึกปริมาตรน้ำที่ฉีดพ่นใน 1 นาที [7]

  1. คำนวณอัตราการฉีดพ่นในหน่วยลิตรต่อนาที (q)
  2. วัดความกว้างของการฉีดพ่นในหน่วยเมตร (w)

ความกว้างของการฉีดพ่น [8]

4.  จับเวลาในการฉีดพ่นเป็นระยะทาง 25 เมตร บันทึกเวลาที่ใช้ในการเคลื่อนที่ ในหน่วยวินาที (t)

จับเวลาในการฉีดพ่นเป็นระยะทาง 25 เมตร [9]

  1. คำนวณหาความเร็วในการเคลื่อนที่ในหน่วยเมตรต่อวินาที (s)
  2. คำนวณหาอัตราการฉีดพ่นของเครื่องพ่นสารเคมีในหน่วยลิตรต่อเฮกแตร์ (R) หรือลิตรต่อไร่

ตารางที่ 1  บันทึกข้อมูลการปรับเทียบเครื่องพ่นยาแบบสะพายหลัง

วันที่ดำเนินการทดสอบ  
ชื่อผู้ทำการทดสอบ
ชนิดของเครื่องพ่นยา
ชนิดของหัวฉีด
ค่าเฉลี่ยปริมาตรของน้ำที่ฉีดพ่นใน 1 นาที ในหน่วยมิลลิลิตร หรือ ซีซี (V)
คำนวณอัตราการไหลของหัวฉีด ในหน่วยลิตรต่อนาที (q) = V/1000
ความสูงของหัวฉีดจากพื้นดินขณะทดสอบ (เซนติเมตร)
ความกว้างของการฉีดพ่นในหน่วยเมตร (w)
เวลาในหน่วยวินาทีที่ใช้ในการเดินฉีดพ่นเป็นระยะทาง 25 เมตร (t)
ความเร็วที่ใช้ในการเดินฉีดพ่นในหน่วยเมตรต่อวินาที s = 25/t
อัตราการฉีดพ่นของหัวฉีด ในหน่วยลิตรต่อเฮกแตร์ R = (q x 1,000)/(w x s x 6)
อัตราการฉีดพ่นของหัวฉีด ในหน่วยลิตรต่อไร่  = R/6.25

 

 

วิธีการคำนวณหาขนาดของพื้นที่ [10]

บทความโดย

รองศาสตราจารย์ ดร. รุ่งเรือง  กาลศิริศิลป์  ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

เอกสารอ้างอิง

[1] Taizhou Order Import and Export Co., Ltd,  สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2563 จาก  https://chinasprayers.en.made-in-china.com/product/RojnyUHlAKYs/China-Knapsack-Hand-Operated-Pressure-Sprayer-with-CE-NS-20-.html

[2]  Sevilla Trading, สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2563 จาก https://sevillatrading.weebly.com/other-products.html

[3] GeoTech, Battery-operated knapsack sprayer,   สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2563 จาก http://www.geotech-pro.com/en/prodotti-geotech/battery-operated-knapsack-sprayer-bp16dh-16-lt/

[4] Amazon.com, Flat fan spray nozzle, สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2563 จาก https://www.amazon.in/PNXFlat-Nozzle-Water-Washing-Industrial/dp/B07YFK4PTH

[5] Spray nozzle india, สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2563 จาก https://www.spraynozzlesindia.com/hollow-cone-nozzle.html

[6] Spraytech. Full cone nozzle, สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2563 จาก http://www.spraytecs.com/en/nozzles-parts/full-cone-nozzles/full-cone-nozzles-up

[7] How to calculate sprayer equipment,  สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2563 จาก https://www.youtube.com/watch?v=eeas2Vs0n4U

[8] Pesticide application equipment, สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2563 จาก https://www.slideshare.net/atuhaireaggrey/pesticide-application-equipment

[9] Pesticide application equipment, สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2563 จาก https://www.slideshare.net/atuhaireaggrey/pesticide-application-equipment

[10] Hand sprayer calibration steps worksheet, สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2563 จาก https://s3.wp.wsu.edu/uploads/sites/2086/2014/05/HandSprayerCalibrationStepsWorksheetpdf.pdf

Comments are closed.