การประยุกต์ใช้ระบบถ่ายภาพมุมสูงในการทำ GIS Application Mapping (Application of low altitude imaging system for GIS Application Mapping)
7 สิงหาคม 2020
การใช้งานเซ็นเซอร์วัดความชื้นสัมพัทธ์อากาศในงานเกษตรกรรม
7 สิงหาคม 2020

การปรับพื้นที่ (Land leveling) เพื่อการเกษตรกรรม

Land leveling หมายถึง การปรับระดับดินหรือปรับพื้นที่ที่มีลักษณะ สูงๆ ต่ำๆ ให้ราบเรียบสม่ำเสมอ ตามระดับหรือความลาดเทที่ต้องการ เพื่อให้สามารถทำการให้น้ำชลประทานทางผิวดิน หรือการทำงานของเครื่องมือเครื่องจักรทางการเกษตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมมีวิวัฒนาการมาโดยตลอดตั้งแต่การปรับผิวดินให้ราบเรียบหรือ land smoothing ซึ่งเป็นการปรับพื้นที่อย่างง่ายเพื่อให้สะดวกต่อการทำงาน จนถึงการปรับระดับพื้นที่ที่มีความละเอียดถูกต้องสูงรองรับการเกษตรแบบแม่นยำในปัจจุบัน

ความสำคัญของการปรับพื้นที่ต่อการทำการเกษตร

1. การปรับพื้นที่ให้เรียบ หรือมีความลาดเทสม่ำเสมอต่อเนื่องกันทั้งแปลง มีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการให้น้ำซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลถึงผลผลิตทางการเกษตร ทั้งในพื้นที่ที่ได้รับน้ำจากระบบการชลประทาน และพื้นที่เกษตรกรรมน้ำฝน โดยประโยชน์ของการปรับพื้นที่ต่อการให้น้ำได้แก่

• เกษตรกรสามารถควบคุม และลดเวลาการให้น้ำให้สั้นลงได้
• ช่วยให้การกระจายน้ำตลอดความความยาวแปลงมีความสม่ำเสมอ ไม่มีน้ำขัง ส่งผลให้การงอกและการเติบโตของพืชสม่ำเสมอเช่นกัน
• ลดปริมาณน้ำสำหรับการเตรียมแปลงและการให้น้ำในช่วงการเพาะปลูกลง เนื่องจากน้ำชลประทานไหลจากหัวแปลงถึงท้ายแปลงด้วยความเร็วที่เหมาะสม การสูญเสียเนื่องจากการไหลซึมเลยเขตรากพืชมีปริมาณน้อย โดยทั่วไปพบว่าการปรับพื้นที่ที่เหมาะสมทำให้ประหยัดน้ำชลประทานได้มากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์

2. การปรับพื้นที่ช่วยให้เครื่องจักรเข้าทำงานในแปลงเพาะปลูกได้ดี เพราะสามารถทำความเร็วได้อย่างเหมาะสมในแต่ละกิจกรรม

3. ส่งเสริมการจัดการแปลงตามแบบเกษตรกรรมสมัยใหม่ เช่นการใช้ GPS กำหนดแนวร่องปลูกและการชักร่องสำหรับทำ traffic control ลดการบดดันหน้าดิน นอกจากนี้หากพื้นที่ไม่เรียบการควบคุมรถให้วิ่งเป็นเส้นตรงโดย GPS ก็ไม่สามารถทำได้

4. ผลประโยชน์อื่น ๆ ที่มีต่อการเขตกรรม เช่น ลดวัชพืช ลดเวลาการทำงาน

เครื่องมือและวิธีการในการปรับระดับพื้นที่

1. การปรับพื้นที่โดยใบมีดดันหน้า (Land Plane) หรือใบมีดแบบลากท้าย (Drag Scrapper) ร่วมกับการตรวจสอบระดับในสนาม เป็นเครื่องมือปรับพื้นที่อย่างง่ายที่สามารถใช้ในการปรับพื้นที่ได้ โดยความถูกต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงาน

2. การปรับพื้นที่ด้วยเลเซอร์ (Laser Land Leveling) เป็นการพัฒนาการทำงานของใบมีดแบบลากท้าย (Drag Scrapper) โดยการติดตั้งที่ตัวส่งสัญญาณไว้ข้างแปลง และติดตัวรับสัญญาณไว้ที่ drag scrapper เพื่อสั่งการทำงานปรับขึ้น-ลง ของใบมีดได้อัตโนมัติ เป็นไปตามระดับที่เราต้องการ แต่อาจมีอุปสรรคในการทำงานคือฝุ่นในแปลงที่ขัดขวางสัญญาณแสงเลเซอร์ระหว่างตัวส่งและตัวรับ และความไม่ยืดหยุ่นเรื่องการปรับระนาบการทำงาน ทั้งนี้ในปัจจุบันการปรับพื้นที่ด้วยเลเซอร์ได้รับความนิยมแพร่หลายมากที่สุดและในตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรมีผู้ประกอบการหลายรายที่พัฒนาและผลิตให้เกษตรกรได้เลือกใช้งาน

ภาพจาก บริษัท โชคชัยจักรกลเกษตร จำกัด

3. การปรับระดับพื้นที่แบบ GPS RTK (Global Positioning System-Real time kinematic) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุดในการปรับพื้นที่ ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเครื่องมือจะทราบตำแหน่ง สูง-ต่ำ ของพื้นที่อย่างละเอียดและมีความแม่นยำสูง โดยมีความความผิดพลาดต่ำกว่าระดับเซนติเมตร สามารถใช้ได้กับพื้นที่หลายรูปแบบ มีความยืดหยุ่นในการทำงานตามความต้องการที่หลากหลาย รัศมีการทำงานของเครื่องมือจากฐานเดียวกันสูง ทั้งนี้ในปัจจุบันการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิตมีการแข่งขันสูงทั้งผู้ผลิตในประเทศและต่างประเทศทำให้เครื่องมือมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงและมีราคาลดต่ำลง

หลักการทำงานของเครื่องมือปรับระดับพื้นที่แบบ GPS RTK จะอาศัยเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม 2 เครื่อง โดยเครื่องหนึ่งจะวางในตำแหน่งที่รู้ค่าพิกัดและระดับที่แน่นอนตลอดเวลาเราเรียกว่าสถานีหลัก(Base station) ส่วนอีกเครื่องจะเป็นสถานีเคลื่อนที่ (Rover station) ติดตั้งพร้อมอุปกรณ์รับสัญญาณ (Antenna) ที่ชุดปรับระดับโดยทำงานตามอุปกรณ์หรือชุดประมวลผลซึ่งเคลื่อนที่ไปพร้อมกับต้นกำลัง โดยการสื่อสารระหว่างเครื่องรับทั้งสองเครื่องจะใช้คลื่นวิทยุหรือสัญญาณอินเทอร์เน็ต

ภาพจาก SunNav Technology Co., Ltd.

 

อย่างไรก็ตามการปรับพื้นที่มีข้อควรระมัดระวัง ในกรณีที่พื้นที่ก่อนปรับระดับมีความแตกต่างของระดับมาก อาจทำให้มีส่วนของหน้าดินบางตำแหน่งถูกตัดและสูญเสียหน้าดินซึ่งหมายถึงการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดินในเขตรากพืชเมื่อทำการเพาะปลูกต้องทำการปรับปรุงดินหรือรอเวลาในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินอีกระยะหนึ่ง

บทความโดย

ธีระพงษ์ ควรคำนวน, อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ข้อมูลอ้างอิง

1. บริษัท โชคชัยจักรกลเกษตร จำกัด, สืบค้นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2563, จากhttp://www.chokchai.co.th/

2. SunNav Technology Co., Ltd. , สืบค้นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2563, จากhttps://sunnavag.com/product/ag1000-gnss-land-leveling-system.html

Comments are closed.